สช. จัดประชุมออนไลน์ ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตของโรงเรียนนอกระบบตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

29 พ.ย. 67 เวลา 16:27 น.204 ครั้งพิมพ์
น.ส.ประกาย ศรีจันทึก
กลุ่มเลขานุการกรม

บ่ายวันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) นายโกเมศ กลั่นสมจิตต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (รองเลขาธิการ กช.) เป็นประธานเปิด “การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตของโรงเรียนนอกระบบตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นางสุมิตรา ทองแสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ดร. กาญจนา หงส์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นายศรัณ อัยราน้อย ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ พร้อมด้วย ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร ครู ผู้สอน โรงเรียนเอกชนนอกระบบ เข้าร่วมประชุมผ่าน YouTube Live สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ณ ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคาร สช.

 

นายโกเมศ กลั่นสมจิตต์ กล่าวว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ส่วนราชการและองค์กรในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อให้การศึกษามุ่งสู่ความเป็นเลิศ ความมั่นคงของชีวิตทั้งของผู้เรียนและประชาชน มุ่งสร้างการศึกษาเท่าเทียมผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัยให้มีศักยภาพและความพร้อม สนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นโยบายพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียนผ่านธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank โดยระบบธนาคารหน่วยกิตเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถกำลังคนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งมิติภาคสังคม ภาคการผลิตและบริการ นอกจากนี้ ธนาคารหน่วยกิตเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้นำผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานหรืออาชีพมาเทียบโอนกันได้ ทำให้ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนการเรียนในโรงเรียน ประกอบกับปัจจุบันได้มีการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเข้ามาใช้ในการเชื่อมโยงผลลัพธ์การเรียนรู้ของระดับคุณวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้แต่ละระดับ และประเภทการศึกษากับระดับสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพมาใช้ในการ “เพิ่มคุณภาพ เพิ่มคุณวุฒิ เพิ่มโอกาส และเพิ่มรายได้”

 

ดังนั้น การดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตของโรงเรียนนอกระบบกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จึงเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของนักเรียน แต่ยังเป็นการสร้างระบบการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน และส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับในการประชุมครั้งนี้ เป้นการประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตของโรงเรียนนอกระบบตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร ครู ผู้สอน โรงเรียนเอกชนนอกระบบ จำนวนทั้งสิ้น 200 คน รองเลขาธิการ กช. กล่าวทิ้งท้าย

 

#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #โรงเรียนเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ