ประวัติความเป็นมา

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

Office of the Private Education Commission (OPEC)

 

ข้อมูลทั่วไป

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเอกชนในประเทศไทย เชื่อว่าการศึกษาประเภทนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยเริ่มในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) จดหมายเหตุของมองสิเออสานิเยร์ กล่าวว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้ทรงสร้างโรงเรียนราษฎร์ ไว้หลายโรงเรียนและจากจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอซัวลี ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้กล่าวถึงโรงเรียนราษฎร์ 3 โรง คือ โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนนมัสแพรนด์ และโรงเรียนสามเณร

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่บุกเบิกการต่อตั้งโรงเรียนราษฎร์ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นมิชชั่นนารีซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย โรงเรียนราษฎร์ซึ่งได้รับการจัดตั้งและสนับสนุนโดยมิชชั่นนารี ได้แก่ โรงเรียนของนามัททูน (Mrs. Mattoon) มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน จึงเปิดสอนในปี พ.ศ. 2395 ซึ่งถือเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในสมัยนั้น โรงเรียนคริสเตียนไฮสกูล (The Christian High School) ปัจจุบันคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2431 เปิดสอนเฉพาะเด็กผู้ชาย สำหรับโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (Kunsatree Wang Lang School) ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เปิดสอนเฉพาะเด็กผู้หญิง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2417 และโรงเรียนไทย – ฝรั่ง (Thai Farang School) ปัจจุบันคือ โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption School) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2420

โรงเรียนราษฎร์ทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ในระยะเริ่มแรกดำเนินงานเป็นเอกเทศ มิได้ถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2448 กระทรวงศึกษาธิการ (กระทรวงธรรมการ) จึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลโรงเรียนราษฎร์ทั้ง 3 แห่ง และในช่วงระยะเวลานี้เองโรงเรียนราษฎร์ซึ่งมีคนไทยเป็นเจ้าของ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นชื่อโรงเรียนบำรุงวิทยา (BamrungWittaya School) และลงทะเบียนขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกัน

การศึกษาเอกชนของประเทศขยายตัวมากขึ้นในปี พ.ศ. 2461 รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะตรวจนิเทศโรงเรียนเอกชนทั่วราชอาณาจักร และเพื่อปรับปรุงแก้ไข กฎ และระเบียบโรงเรียนเอกชน ในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชบัญญัติกระทรวงศึกษาธิการขึ้น โดยจัดตั้งกองโรงเรียนราษฎร์ สังกัดกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อควบคุมดูแลโรงเรียนราษฎร์ทั้งหมด

 

การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา การจัดการศึกษาชองเอกชนที่ดำเนินควบคู่มากับการจัดการศึกษาของรัฐบาล และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและช่วยเหลือส่งเสริมของกองโรงเรียนราษฎร์ กรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการนั้น มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง จึงทำให้กองโรงเรียนราษฎร์ไม่สามารถบริหารงานได้รวดเร็วทันความต้องการของ ประชาชน สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย จึงเสนอความเห็นว่ากองโรงเรียนราษฎร์ควรได้รับการยกวิทยฐานะเป็นกรมโรงเรียนราษฎร์ หรือ กรมการศึกษาเอกชน เพื่อเพิ่มอำนาจในการส่งเสริมและช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษามากขึ้น และเป็นการส่งเสริมกำลังใจให้เอกชนจัดการศึกษาได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นความต้องการของสมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทยนอกจากจะสอดคล้องกับความ ต้องการของ นายเกรียง เอี่ยมสกุล (อดีตหัวหน้ากองโรงเรียนราษฎร์คนแรก) ที่จะแยกโรงเรียนเอกชนออกจากกรมวิสามัญ ให้มีหน่วยบริหาร ของตัวเองแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเวลานั้นที่ต้องการปรับปรุงระบบราชการ

ดังนั้น สภาการศึกษาแห่งชาติจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนเอกชน เพื่อปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษาทั้งด้านวิชาการ และด้านบริการ คณะกรรมการนี้ประกอบด้วย ดร.ธำรง บัวศรี เป็นประธานกรรมการ นายพนอม แก้วกำเนิด ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองโรงเรียนราษฎร์ในขณะนั้น จึงได้มอบแผนงานกรมโรงเรียนราษฎร์เพื่อเสนอกระทรวงศึกษาธิการ และผลปรากฏว่ากองโรงเรียนราษฎร์ได้รับการปรับปรุงเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน โดยใช้ชื่อย่อว่า สช. มีฐานะเทียบเท่ากรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2515 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 217 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 โดยโอนอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกองโรงเรียนราษฎร์ แลโอนงานวิทยาลัยเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน และผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนคนแรก คือ ดร.ธำรง บัวศรี (วารสารกองทุนสงเคราะห์การศึกษาเอกชน ฉบับพิเศษ, 2535.)

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ดังนี้

  1. เป็นหน่วยงานในการส่งเสริมและประสานงานการศึกษาเอกชนและดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาเอกชน
  2. เสนอนโยบายยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาการศึกษาเอกชน กำหนดกฎ ระเบียบ และเกณฑ์มาตรฐานกลางในการจัดการศึกษาเอกชน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพ การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาเอกชน
  3. ดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนทางการศึกษาเอกชน การอุดหนุนการศึกษาเอกชน การคุ้มครองการทำงาน สิทธิประโยชน์ของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชน
  4. เป็นศูนย์ส่งเสริมสนับสนุนข้อมูลและทะเบียนกลางทางการศึกษาเอกชน ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาเอกชน
  5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

โครงสร้างการบริหารองค์กร (ORGANIZATION CHART) และโครงสร้างการบริหารงาน (ADMINISTRATION CHART) การแบ่งโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ

 

พรบ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 8 กำหนดให้มี กช. ประกอบด้วย

  1. กรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน ประกอบด้วย
    • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน
    • ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ
    • เลขาธิการ กพฐ. กรรมการ
    • เลขาธิการ สอศ. กรรมการ 
    • เลขาธิการ สกศ. กรรมการ
    • ผอ.สำนักงบประมาณ กรรมการ
    • อธิบดีกรมบัญชีกลาง กรรมการ
    • อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการ
    • เลขาธิการ กช. กรรมการและเลขานุการ
  2. กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง 11 คน คัดเลือกจาก
    • ผู้แทนสมาคมเกี่ยวกับโรงเรียนเอกชน 2 คน
    • ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน 1 คน
    • ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชน 1 คน
    • ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน 1 คน
    • ครูเอกชน 1 คน
    • บุคลากรทางการศึกษา 1 คน
    • ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน
    • ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ 1 คน

 

อำนาจหน้าที่ของ กช.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ดังต่อไปนี้

  1. เสนอนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาเอกชน
  2. กำกับดูแลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน
  3. กำหนดมาตรฐานและแผนพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเอกชน
  4. กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียน ครู ผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา
  5. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ
  6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่ กช. มอบหมาย

 

คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน

  1. มาตรา 49 แห่ง พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ
  2. มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการให้กู้ยืมเงินแก่โรงเรียนในระบบ
  3. คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย ปลัด ศธ.เป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน
  4. คณะอนุกรรมการฯ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการของกองทุนฯ แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และประมาณการรายรับ – รายจ่าย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การกู้ยืม/ ยืมเงินของกองทุน ฯลฯ

 

เครือข่ายพัฒนาการศึกษาเอกชน

  1. คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนในระดับจังหวัด (ปสกช.) 71 จังหวัด
  2. คณะกรรมการเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเอกชนในกรุงเทพมหานคร
  3. ประเภทสามัญศึกษา 25 กลุ่ม
  4. ประเภทนอกระบบ 12 กลุ่ม
  5. สมาคมทางการศึกษาเอกชน (สมาคมหลักในส่วนกลาง) 16 สมาคม

 

ประเภทของโรงเรียนเอกชน

  1. โรงเรียนในระบบ มี 2 ประเภท ได้แก่
    • ประเภทสามัญศึกษา
    • ประเภทนานาชาติ
  2. โรงเรียนนอกระบบ มี 7 ประเภท ได้แก่
    • ประเภทสอนศาสนา
    • ประเภทศิลปะและกีฬา
    • ประเภทวิชาชีพ
    • ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต
    • ประเภทกวดวิชา
    • สถาบันศึกษาปอเนาะ
    • ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)