สช. จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ รุ่นที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (2nd OPEC-IPST Science Enrichment Camp)

29 ก.ย. 66 เวลา 16:51 น.440 ครั้งพิมพ์
นายฐิติวัจน์ ชัยกิมานนท์
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (29 ก.ย. 66) นางสุมิตรา ทองแสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา เป็นประธานเปิดค่ายวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ รุ่นที่ 2 ระดับธยมศึกษาตอนต้น (2nd OPEC-IPST Science Enrichment Camp)  โดยมี นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา คณะผู้จัดงาน ครูและนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 11 โรงเรียน ประกอบด้วย ครูที่ผ่านการอบรมรายวิชานวัตกรน้อยสู่การออกแบบโครงงาน หรือครูผู้สอนรายวิชาโครงงาน จำนวน 13 คน และนักเรียนในห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ จำนวน 26 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 39 คน เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมสองพันบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

นางสุมิตรา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนให้ได้มาตรฐานและเสริมสร้างผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ปรับกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงสอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เน้นพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะและกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพที่ชอบอย่างมีความสุขในชีวิตจริงเพื่อสนองตอบต่อนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนเอกชน ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ถือได้ว่าเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ครบถ้วนทุกกระบวนการที่กล่าวมา ซึ่งปัจจุบันประเทศกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา และการเรียนรู้ของคนไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อัตรากำลังคนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมีแนวโน้มลดลง และนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความสนใจศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ลดลง อีกทั้งผลการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชน 

นางสุมิตรา กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการมุ่งพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงถือเป็นโอกาสดีของโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ที่จะได้รับการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ให้สามารถพัฒนานักเรียนให้มีทักษะพื้นฐานในการสร้างความรู้ มีทักษะการดำรงชีวิตและมีคุณลักษณะของพลเมืองในศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ