เลขาธิการ กช. ร่วมคณะฯ เสมา 1 และเสมา 2 ในการลงพื้นที่มอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารโรงเรียนในสุราษฎร์ธานี

19 ก.ย. 66 เวลา 15:41 น.10416 ครั้งพิมพ์
กรรณิกา พันธ์คลอง
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (16 กันยายน 25566) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะทำงาน รมว.ศธ., นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ., นางสาวเจริญวรรณ  หนูนาค ผู้ตรวจราชการ ศธ., นายชูสิน วรเดช ศึกษาธิการภาค 6, นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้บริหารการศึกษา/ผู้บริหารสถานศึกษาภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ อาคาร 100 ปี หอประชุมครูลำยอง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ต้องการมารับฟังความคิดเห็นต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่ได้มอบนโยบายไว้เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยขอความร่วมมือทุกท่านตอบแบบสอบถามรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าว เพื่อนำแนวความคิดมาใช้เป็นแนวทางการทำงาน เพราะการบริหารงานจะเน้นแนวราบ การมีส่วนร่วม พยายามใช้ระบบออนไลน์เข้ามาใช้ โดยพยายามไม่ให้ครูออกจากห้องเรียน การทำงานจะเน้นความประหยัดเรียบง่าย หลังจากรับฟังความคิดเห็นและข้อวิพากษ์ต่าง ๆ แล้ว จะนำมาจัดทำเป็นนโยบายที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ รมว.ศธ.มอบนโยบายและแนวคิดในการจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ดังนี้

นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา 4 ด้าน

1. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้วยการปรับระบบการประเมินวิทยฐานะที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร-ขั้นตอนการประเมิน ไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม

2. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมสำรวจครูขาดแคลนในแต่ละพื้นที่ตามภูมิลำเนาเดิม

3. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงินและการเก็บออมเงิน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีพ รวมทั้งเร่งช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ NPL โดยเร่งด่วน โดยจะมอบหมายให้ รมช.ศธ.เป็นหลักในการดำเนินการในเรื่องนี้

4. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 Tablet ด้วยการสนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ ในการช่วยจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงระบบออนไลน์รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจำนวนครูผู้สอน แต่ ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น แต่เมื่อเป็นนโยบายก็ต้องพยายามขับเคลื่อนให้ได้ภายใน 4 ปี

นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 6 ด้าน

1. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบังคับให้มีการจัดการเรียนการสอน 12 ปี และนโยบายของรัฐบาลพยายามให้มีการขับเคลื่อนมากกว่า 12 ปี โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นพลวัตกับการประเมินครู พร้อมมีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้รองรับตามศักยภาพของโรงเรียนและตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)

2. 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำได้ทุกโรงเรียน ซึ่งตัวชี้วัดคืออย่างน้อย 1 อำเภอ ต้องมี 1 โรงเรียนคุณภาพ เพื่อจะได้เป็นโรงเรียนหลักให้กับโรงเรียนเครือข่ายที่จะสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน หากมีงบประมาณเพียงพออาจทำได้มากกว่า 1 โรงเรียน

3. ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและมีหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความสนใจและความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งจัดให้มีระบบแนะแนวตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบแนวทางการเรียน และเป้าหมายชีวิตที่ตนเองชอบสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดระยะเวลาการเรียน เช่น อาจจะมีแบบทดสอบด้านจิตวิทยา หรือแอป AI ที่สามารถทดสอบให้เด็กแต่ละคนรู้ตัวตนของตนเองว่าอยากเป็นอะไร

4. การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิ รับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสายอาชีวศึกษา สามารถขอการรับรองมาตรฐานวิชาชีพได้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบ เพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกที่จะมีรายได้ระหว่างเรียนควบคู่กับการทำงานไปพร้อมกัน

5. การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ด้วยการจัดทำระบบการเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์หรือสมรรถนะจากระบบเดียวกัน แต่ต่างสถานศึกษา หรือจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งหรือจากต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าศึกษาหรือการรับรองระดับการศึกษาต่างสถานศึกษาหรือต่างระบบได้

6. มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระดับวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ให้ผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษามีความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพได้ทันต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้มีโอกาสพบปะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจากหลากหลายหน่วยงาน หน้าที่ของตนคือ การปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ตามแนวข้อสั่งการและตามแนวปฏิบัติของ รมว.ศธ. เพื่อให้นโยบายของรัฐบาลและ ศธ. ประสบความสำเร็จ การรับฟัง/การร่วมแรงร่วมใจจากทุกท่านจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น จะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อที่จะไปสัมผัส รับฟังข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การทำงาน ยิ่งเจอคนเยอะ ได้รับฟังความคิดเห็นเยอะ ๆ นั่นคือสิ่งที่ต้องการ เราต้องร่วมกันทำงาน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ตามนโยบาย รมว.ศธ. ยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังความคิดเห็น และทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศต่อไป

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ