สช.จัดประชุมใหญ่ดึงภาคีเครือข่ายร่วมสัมมนาขับเคลื่อนนโยบายและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเอกชน

29 พ.ค. 66 เวลา 16:53 น.1031 ครั้งพิมพ์
กรรณิกา พันธ์คลอง
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (29 พฤษภาคม 2566) เวลา 09.00 น. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนนโยบายและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเอกชน โดยมี นายประพัทธ์  รัตนอรุณ ว่าที่เรือตรี ชูชีพ ​อรุณเหลือง​ รองเลขาธิการ กช. คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนนอกระบบระดับจังหวัด นายกสมาคมทางการศึกษาเอกชน ประธานเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเอกชน ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน และข้าราชการ สช.เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องราชาบอลรูม ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กทม.
 
นายมณฑล กล่าวตอนหนึ่งพิธีเปิดการประชุมว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเชิงพื้นที่ ในการพัฒนาการศึกษาเอกชนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญอย่างยิ่ง  ทำให้เกิดการร่วมรับรู้ ร่วมความคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือกระทำ อันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจ สามารถขับเคลื่อนการศึกษาเอกชน  ตามกรอบนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  ประกอบกับเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก สร้างกระบวนการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาเอกชนอย่างเข้มแข็ง 
 
นายมณฑล กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาเอกชนถือว่า มีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของประเทศ เนื่องจากเป็นผู้แบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการศึกษา และมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน  ทำให้สถานศึกษาเอกชนจำเป็นต้องพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย โดยมุ่งเน้นการสร้างผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศและความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงต้องมีระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ต้องอาศัยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป