เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 นางสุมิตรา ทองแสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และการสะสม-เทียบโอนในระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยมี นางสาวชุติพร เสชัง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ คณะผู้บริหารหน่วยงานสถานศึกษา ครู และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาคีในจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมในการประชุม ณ โรงแรม 42C เดอะ ชิคโฮเทล จังหวัดนครสวรรค์
นางสุมิตรา ทองแสง กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและประชากรในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางการศึกษา ได้รับคุณวุฒิและพัฒนาทักษะอาชีพอย่างเหมาะสม รองรับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนากำลังคนอย่างยั่งยืน ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิต โดยพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ/มาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน เพื่อให้โรงเรียนเอกชนได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมให้โรงเรียนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพความเชี่ยวชาญด้านอาชีพได้จัดทำหลักสูตรของตนเองและนำไปใช้ในการเรียนการสอน
สำหรับในปีงบประมาณ 2568 จะพัฒนาระบบสารสนเทศเกี่ยวกับธนาคารหน่วยกิต เพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบธนาคารหน่วยกิตกลางหรือระบบธนาคารหน่วยกิตที่เกี่ยวข้อง และได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพื่อร่วมดำเนินการเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้กับหลักสูตรโรงเรียนนอกระบบ เพื่อขับเคลื่อนการเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายโอกาสทางการศึกษาและพัฒนากำลังคนตามแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เน้น “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” เพื่อความยั่งยืนของกำลังคนไทยในอนาคต นางสุมิตรา กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ
- ภาพข่าวจากเพจ Thailand NQF
- ข้อมูลข่าวจากกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ
#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #โรงเรียนเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที