เลขาธิการ กช. ร่วมการประชุมวิชาการด้านลูกเสือ ประจำปี 2567 “งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout for Scout and Community)

15 พ.ค. 67 เวลา 15:03 น.629 ครั้งพิมพ์
ภวินท์ เล้าเจริญสมบัติ
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (15 พ.ค. 67) นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ร่วมการประชุมวิชาการด้านลูกเสือ ประจำปี 2567 “งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout for Scout and Community) โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ผช.รมต.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุม นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัด ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ. ข้าราชการ และบุคลากรของสถานศึกษาในสังกัด เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน โดยอาศัยกระบวนการลูกเสือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ผ่านนโยบายการขับเคลื่อนกิจกรรมลูกเสือของ รมว.ศธ. “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อปลูกฝังและสร้างเจตคติที่ดี ให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีระเบียบวินัย มีความรัก ความสามัคคี รู้จักเสียสละและบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม จากหลักสูตรและกิจกรรมลูกเสือตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ มุ่งหมายให้ลูกเสือได้แสดงออกซึ่งทักษะและความสนใจของตนเอง และเพื่อให้ได้มีส่วนในการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน มีจำนวนทั้งสิ้น 76 วิชา ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์ หลายวิชามีความทันสมัยและอยู่ร่วมกับคนไทยมาเนิ่นนาน อาทิ ลูกเสือนักดนตรี ลูกเสือการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) วิชานักแสดงการบันเทิง หรือการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ซึ่งวิชาเหล่านี้มีเป็นวิชาที่มีมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน แต่ขาดการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและขาดการสื่อสารที่ให้สังคมได้รับรู้ว่าในทุก ๆ วิชานั้นล้วนมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย และการประชุมวิชาการด้านลูกเสือในครั้งนี้ จะเป็นตัวช่วยให้ได้รู้ถึงกระบวนการลูกเสือ ว่าสิ่งใดที่ควรมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งส่งผลให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่าการเรียนลูกเสือมีความทันสมัยและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนในวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

นายวรัท พฤกษาทวีกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ. มีความตระหนักถึงกระบวนการลูกเสือ มีการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายคือจะดำเนินการอย่างไรให้ทุกคนเกิดความสุข มีกระบวนการเรียนรู้ลูกเสือโดยมีอิสระ และยังยืนยันว่า “วิชาลูกเสือนั้นมีความจำเป็น” และการเรียนลูกเสือไม่ใช่เรื่องที่ล้าสมัย เพราะการเรียนลูกเสือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีการเรียนและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่กระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้นจะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้กระบวนการลูกเสือที่มีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ได้ดำเนินการจัดโครงการการประชุมวิชาการด้านลูกเสือฯ ในครั้งนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Best practice ทางด้านลูกเสือ กระตุ้นให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้านลูกเสือ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายการวิจัยงานวิชาการด้านกิจกรรมลูกเสือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการลูกเสือ ส่งผลงานเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการฯ ประกอบด้วย ผลงานวิจัย 16 ผลงาน ผลงานทางวิชาการอื่น 22 ผลงาน และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ 55 ผลงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 93 ผลงาน

ขอขอบคุณภาพจาก : คณะทำงานสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ