บ่ายวันนี้ (3 เมษายน 2568) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการพัฒนาการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา” พร้อมร่วมมือกันขยายผลการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่ “ย่อส่วน” การทดลอง เพื่อ “ขยายโอกาส” ทางการศึกษา ให้นักเรียนได้ประสบการณ์การลงมือทำด้วยอุปกรณ์การทดลองขนาดเล็กที่ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. และโรงเรียนเอกชนสังกัด สช. ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) พร้อมด้วย นายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ศ.ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ นายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นหน่วยงานที่ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนโรงเรียนเอกชน เห็นความสำคัญของการยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนในการเผชิญกับความท้าทายในอนาคตและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาครูให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ สามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และเคมี ในวันนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชน สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง และช่วยให้การทดลองในห้องเรียนมีความปลอดภัย ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้โรงเรียนเอกชนสามารถขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึง
“ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษาที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่นักเรียนและโรงเรียนเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาครูที่จัดการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชน ให้มีความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” เลขาธิการ กช. กล่าว
สำหรับโครงการนี้ เป็นการขยายความร่วมมือในการต่อยอดความสำเร็จโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ซึ่ง Dow และ สมาคมเคมีฯ ได้ร่วมดำเนินงานมาครบ 10 ปีในปีที่ผ่านมา โดยจะเพิ่มโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาใน สังกัด สพฐ. และ สช. ได้เข้าอบรมและสามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนได้ใช้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในการทำการทดลองด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีใจรักในการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาขาอาชีพที่ยังต้องการมากของประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้มีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต โดยโครงการฯ ในส่วนขยายความร่วมมือนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดอบรมให้ครูในโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และ สช. มากกว่า 1,000 คน
หลังจากนั้น เลขาธิการ กช. ได้เยี่ยมชมการนำเสนอผลงานของ “โครงการพัฒนาการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา” ที่นำมาจัดแสดงภายในพิธีลงนามข้อตกลงฯ อาทิ อุปกรณ์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน อุปกรณ์ปฏิบัติการเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ รวมถึงมีการให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้อุปกรณ์เคมีแบบย่อส่วนอีกด้วย
#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที