ผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 5/67

28 ต.ค. 67 เวลา 18:55 น.367 ครั้งพิมพ์
น.ส.ประกาย ศรีจันทึก
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (28 ตุลาคม 2567) เวลา 10.30 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายศุภเสฏฐ์ คณากูล ประธานกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน นางสาวจินตนา สุชนชาติ ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom meeting โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

 

·       เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการวินิจฉัยการร้องทุกข์ และการคุ้มครองการทำงาน พ.ศ. ....

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เห็นสมควรปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วยคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. 2557 ให้มีความเหมาะสม ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจึงได้ยกร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วยการวินิจฉัยการร้องทุกข์และการคุ้มครองการทำงาน พ.ศ. .... ขึ้น มีสาระสำคัญประกอบด้วย หมวด 1 การคุ้มครองการทำงาน ทั้งเวลาการทำงานของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เงินเดือน ค่าสอน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด การเลิกสัญญาจ้าง การพักงาน ค่าชดเชย และหมวด 2 การร้องทุกข์ และการวินิจฉัยการร้องทุกข์ โดยร่างระเบียบดังกล่าวฯ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเรียบร้อยแล้ว จึงได้เสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบฯ ดังกล่าว และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนปรับแก้ร่างระเบียบฯ ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และเสนอร่างระเบียบฯ ดังกล่าว ให้รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาลงนามต่อไป

 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้

 

·       รับทราบรายงานการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้รับทราบ รวมทั้งสิ้น 4 ประเด็นหลักที่สำคัญ ได้แก่

1) การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการส่งเสริมการประเมินวิทยะฐานะครูโรงเรียนเอกชนที่เทียบเท่าวิทยะฐานะระดับชำนาญการเพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง หรือ A : License

2) การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ในหัวข้อ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime : ส่งเสริมการพัฒนาครูผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (E-Learning) / 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ : ส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ / ระบบแนะแนวการเรียน Coaching ด้วยการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน เตรียมความพร้อมสู่การประเมิน PISA และการพัฒนาระบบดูแลสุขภาวะผู้เรียน รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา / การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) / การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา (Credit Bank System) / การส่งเสริมทักษะด้านอาชีพให้ผู้เรียน (Learn to Earn) / และการศึกษาที่เท่าเทียมจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล

3) การยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับ สตง., ป.ป.ช., บก.ปปป., ตสน.ศธ. และโรงเรียนเอกชน กำหนดมาตราการและแนวทางการรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการรวจติดตามเงินอุดหนุนของโรงเรียนเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                   4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสำนักงานฯ โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน

 

 

 

·       รับทราบรายงานผลการประชุมกำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กลุ่มตรวจสอบภายใน กระทรวงศึกษาธิการ (ตสน.ศธ.) และสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.)

 

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 สช.ได้เชิญสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กลุ่มตรวจสอบภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ตสน.ศธ.) และสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.สช.) มาร่วมหารือกันในประเด็นที่เป็นข่าวเกิดขึ้นเกี่ยวกับเงินอุดหนุนรั่วไหล ซึ่งทาง รมว.ศธ.ได้กำชับในเรื่องของการดำเนินการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน ว่าให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และไม่อยากให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในกระทรวงฯ โดยการประชุมดังกล่าว มีข้อสรุปการหารือมาตรการและแนวทางการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน ดังต่อไปนี้

1) กำหนดแนวทางให้โรงเรียนวางระบบการตรวจสอบภายในของโรงเรียนบนหลักความรับผิดชอบ รวมถึงจัดหาเครื่องมือในการตรวจสอบที่จำเป็น และให้เครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น ผู้ปกครอง นักเรียน

2) สร้างความตระหนักรู้ และให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บริหารโรงเรียน และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเกี่ยวกับระเบียบ ประกาศ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยสร้างช่องทางการอบรมให้ความรู้ให้มีความหลากหลายและสามารถเข้าถึงได้สะดวก รวมทั้งเผยแพร่คู่มือการดำเนินงานและปรับปรุงคู่มือให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ

3) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจ ติดตามในระดับพื้นที่จังหวัด เช่น ปปช., บก.ปปป., สตง., ตสน. ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการตรวจติดตาม รวมทั้งการประสานการดำเนินการในกรณีที่พบการทุจริต

4) นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เชื่อมโยงข้อมูลการแสดงตนของนักเรียนเพื่อรับเงินอุดหนุน ข้อมูลการลงเวลาของนักเรียน ข้อมูลการวัดผลการศึกษา กับคำขอเบิกเงินอุดหนุนรายเดือนของโรงเรียน การบันทึกภาพการจัดการเรียนการสอน หรือภาพอาหารกลางวันไว้สำหรับตรวจสอบ

5) ประชาสัมพันธ์สิทธิในการได้รับการอุดหนุนให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับทราบ และเพิ่มช่องทางการตรวจสอบ การร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต

6) ปรับปรุงระเบียบและประกาศว่าด้วยการอุดหนุน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจติดตามเงินอุดหนุน

โดยสำนักงานฯ จะนำมาตรการและแนวทางการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชนมาปรับปรุงระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจติดตามเงินอุดหนุน เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพิจารณาต่อไป

 

·       รับทราบรายงานการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง รายชื่อศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลส่งเสริมตาดีกาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส แทนกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการรับโอนงานศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดในจังหวัดสตูล และ 4 อำเภอของของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย เป็นศูนย์การศึกษาอิสลามประจำ มัสยิด (ตาดีกา)  ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานสอนจริยศึกษา (ตาดีกา) ที่จดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนระเบียบดังกล่าวใช้บังคับ เป็นศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ตามระเบียบเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนอิสลามศึกษาของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)

สำนักงานฯ จึงได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง รายชื่อศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน 2567 จำนวน 2,036 ศูนย์ และกำหนดให้ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ดังกล่าว ต้องจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนนอกระบบ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายใน 180 วัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนอิสลามศึกษาของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในพื้นที่จังหวัดชายแคมภาคใต้ ต่อไป

 

 

·       รับทราบรายงานการควบคุมกิจการของโรงเรียนในระบบ จำนวน 1 โรงเรียน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้รายงานให้ที่ประชุมทราบ เรื่อง การควบคุมกิจการของโรงเรียนอนุบาลรักแม่โพธิ์เมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะยกเลิกกิจการโรงเรียน เนื่องจาก โรงเรียนไม่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นเวลานาน และไม่มีเอกสารหรือบุคคลที่แสดงให้เห็นว่ายังคงดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนในสายสามัญหรือสายอาชีวศึกษาแต่อย่างใด สภาพอาคารเรียนมีความชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนหรืออยู่อาศัยได้ ทั้งนี้ เป็นการรายงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฯ ซึ่งกำหนดว่า เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนในระบบแล้ว จะต้องรายงานให้คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนทราบ

 

          ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้แจ้งนัดหมายการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนครั้งต่อไป (ครั้งที่ 6/2567) ในวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

 

ภวินท์ เล้าเจริญสมบัติ / ภาพ

ประกาย ศรีจันทึก / ข่าว

ประชาสัมพันธ์ สช.

 

#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #โรงเรียนเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ