เลขาธิการ กช. เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนสู่การปฏิบัติเพื่อรองรับมาตรฐานอาชีพ (Skill Certificate)

19 ก.ย. 66 เวลา 15:21 น.292 ครั้งพิมพ์
กรรณิกา พันธ์คลอง
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (19 ก.ย. 2566)  พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนสู่การปฏิบัติเพื่อรองรับมาตรฐานอาชีพ (Skill Certificate) โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ร่วมงานจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 600 คน ณ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จังหวัดชลบุรี

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างความเสมอภาค และโอกาสทางการศึกษาที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันพัฒนากำลังคนของประเทศ ไม่เฉพาะกลุ่มผู้เรียนในวัยเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนทำงาน และประชาชนทุกช่วงวัย ให้ได้มีโอกาสในการศึกษาควบคู่กับการมีงานทำ โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตผ่านการศึกษาทั้งสามระบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ เรามุ่งเน้นให้ผู้เรียน "เรียนดี มีความสุข" ด้วยการบูรณาการความร่วมมือแบบ "จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน" กับทุกภาคส่วนการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศนั้น มีแนวนโยบายที่สำคัญ ได้แก่

1. การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate)ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ โดยผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้สำหรับเทียบคุณวุฒิ เพื่อรับคุณวุฒิการศึกษาและใบรับรองมาตรฐานอาชีพ และได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเรียนรู้และเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วขึ้น โดยขอการรับรองมาตรฐานวิชาชีพได้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ และเปิดโอกาสทางการศึกษาที่ยืดหยุ่นต่อการประกอบอาชีพ

2. การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา เพื่อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย โดยการจัดทำระบบการสะสมและเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์เพื่อได้รับการรับรองคุณวุฒิ โดยไม่ยึดติดกับระยะเวลาในการศึกษา

3. การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Leamn to Earn) ได้แก่

- โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ด้วยความร่วมมือกับภาคประกอบการ องค์กรวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

- การเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อเสริมศักยภาพแก่ผู้เรียน (Upskil หรือเพิ่มพูนทักษะใหม่ (Reskill! โดยผู้เรียนได้รับคุณวุฒิการศึกษา ควบคู่กับการรับรองตามมาตรฐานอาชีพ

- การจัดการอบรมอาชีพเสริมในชุมชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะใหม่ (New Skill) เพิ่มสมรรถนะ (Upskill หรือทบทวนทักษะ (Reskill) ให้แก่ผู้เรียนและประชาชนทั่วไป

ตนขอขอบคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานหลักทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ ที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนงานอย่างเข้มแข้ง และหวังว่างานในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มที่ดีในการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนสมรรถะสูงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยเราต่อไป

ด้าน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ขับเคลื่อนงานนโยบาย การศึกษาและการพัฒนากำลังคน โดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเชียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานหลักด้านการศึกษาและฝึกอบรมในการพัฒนาผู้เรียนและกำลังคนในประเทศการประชุมทางวิชาการ "การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนสู่การปฏิบัติ เพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate)"ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และกระบวนการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของการบูรณาการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของหน่วยงานในระดับนโยบายและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และเพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคนเชิงพื้นที่ และการดำเนินงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย

สำหรับการประชุมทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนสู่การปฏิบัติเพื่อรองรับมาตรฐานอาชีพ (Skill Certificate)  ในวันนี้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 600 คน จากหน่วยงานต่าง ๆ  ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดชลบุรี และผู้บริหารจากส่วนราชการในจังหวัดชลบุรี เช่น ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคเอกชนและสถานประกอบการในพื้นที่ และถ่ายทอดสดผ่าน facebook Panpage ของสำนักงานสภาการศึกษา

โดยกิจกรรมภายในงานฯ ประกอบด้วย 6 ส่วน คือ การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และการพัฒนากำลังคนเชิงพื้นที่ และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเชียน และมาตรฐานสากลของหน่วยผลิตและพัฒนากำลังคน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงาน จำนวน 17 บูธ จากหน่วยงานภาครัฐ 8 แห่ง และสถานศึกษานำร่องในการพัฒนาต้นแบบการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ จำนวน 9 แห่ง