สช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

27 พ.ค. 66 เวลา 14:34 น.754 ครั้งพิมพ์
นางสาวขวัญข้าว แสนบ่อ
กลุ่มเลขานุการกรม

เช้าวันนี้ (27 พฤษภาคม 2566) เวลา 09.00 . นางสุมิตรา ทองแสง รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยมี นางสาวจรูญศรี แจบไธสง รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และคณะวิทยากรจากสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พร้อมด้วยครูโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมการอบรมฯ ณ ห้องประชุมภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

นางสุมิตรา กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ จัดขึ้นเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ในรายวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ภายหลังที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีจุดเน้นและนโยบายที่กำหนดให้สถานศึกษาจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน รวมทั้งบ่มเพาะให้ผู้เรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสานและต่อยอด และนำมาปรับประยุกต์ใช้ในปัจจุบั

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของจุดเน้นและนโยบายดังกล่าว จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ในครั้งนี้ขึ้นมา โดยคาดหวังว่าครูโรงเรียนเอกชนจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ตามประกาศดังกล่าว และสามารถการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์เชิงรุก เลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม

จากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการกำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) ตามแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ โดย สช. ได้รับความอนุเคราะห์จัดทำหลักสูตร จาก ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และวิทยากร นำโดย นางสาวจรูญศรี แจบไธสง รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา พร้อมคณะ จากสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาให้ความรู้ โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤษภาคม 2566 มีครูโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 230 คน จาก 113 โรงเรียน

ขวัญข้าว แสนบ่อ : ภาพ/ข่าว
ประชาสัมพันธ์ สช.