ผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ประชุม กช.) ครั้งที่ 2/2566

14 มี.ค. 66 เวลา 17:40 น.2943 ครั้งพิมพ์
นางสาวขวัญข้าว แสนบ่อ
กลุ่มเลขานุการกรม

บ่ายวันนี้ (14 มีนาคม 2566) เวลา 14.00 น. นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และคณะกรรมการ กช. ผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
 
ประชุมได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของ สช. ดังต่อไปนี้

           1.   รายงานการจัดทำคู่มือการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลความปลอดภัยและผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง มีแนวทางในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน  ตามนโยบายและจุดเน้นสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ

           2.   รายงานการหารือเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโรงเรียนเอกชนตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565  ซึ่ง สช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของครูโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และผู้แทนโรงเรียนเอกชนทั้งประเภทสามัญศึกษา อาชีวศึกษา และประเภทนานาชาติ เพื่อจัดทำแนวทางการประเมินครูโรงเรียนเอกชนเทียบวิทยฐานะชำนาญการ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูงจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

           3.   รายงานผลการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี พ.ศ. 2566  สช. ศธจ. และ สช.จังหวัด ได้ร่วมกับสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดและเครือข่ายพัฒนาศึกษาเอกชน ร่วมกันจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี พ.ศ. 2566 ใน 5 ภูมิภาค เพื่อให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และนวัตกรรมทางการศึกษา ครูและผู้สอนโรงเรียนเอกชนได้เผยแพร่ผลงานด้านการศึกษาสู่สาธารณชน รวมถึงนักเรียนและผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยมีผู้บริหาร ครู ผู้สอน และนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานใน 5 ภูมิภาค รวมจำนวนทั้งสิ้น 17,072 คน


เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ....

ด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเห็นสมควรปรับปรุงประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างของหน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินอุดหนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ซึ่งรวมถึงสถาบันศึกษาปอเนาะ โต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู ให้ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
    1. เนื่องจากประกาศฉบับนี้ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ. 2547 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับ
    2. ตาม ข้อ 16 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ. 2547 ให้อำนาจกระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริม พัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะได้ตามความเหมาะสม
    3. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 อนุมัติในหลักการให้การอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตรา 15 (1) และมาตรา 15 (2) โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการอุดหนุนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแล้ว จำนวน 3 ฉบับ เพื่อให้การส่งเสริมสถาบันศึกษาปอเนาะตามมติคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากโครงสร้างการดำเนินการเกี่ยวกับการอุดหนุนตามประกาศนี้ ได้เปลี่ยนแปลงจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ
    4. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ยกร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. .... และนำเสนอคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนฝ่ายกฎหมายพิจารณาให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว มีสาระสำคัญประกอบด้วย
    4.1 ร่างประกาศได้จัดทำขึ้นใหม่ โดยยกเลิกข้อความ และรวบข้อความที่เป็นสาระสำคัญของประกาศเดิม ทั้ง 3 ฉบับ มาจัดทำเป็นฉบับใหม่
    4.2 ในเนื้อหาของประกาศ ได้มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 สั่ง ณ วันที่3 เมษายน 2560
    4.3 มีการปรับปรุง แก้ไข วิธีการ/ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะให้เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานจริงในปัจจุบัน

โดยในที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. ร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ....
2. เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามในร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ....
 
เห็นชอบในการให้ข้อเสนอแนะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใช้อำนาจตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ในการอนุญาตให้รับนักเรียนเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอโศกวิทย์ อ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพ
โดยมีความเป็นมา ดังนี้
    1. โรงเรียนนราทร เขตประเวศ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ตามเลขที่ใบอนุญาต กศ. 12/2528 ลงวันที่ 8 เมษายน 2528 เปิดสอนระดับก่อนประถมศึกษา – ระดับประถมศึกษา (ชั้นเตรียมอนุบาล - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6)
    2. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนนราทรได้ยื่นคำขอเลิกกิจการโรงเรียนปีการศึกษา 2566 เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน จำนวนนักเรียนลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นการยื่นคำขอเลิกกิจการน้อยกว่า 120 วัน จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550
    3. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนนราทรได้มีหนังสือแจ้งปิดกิจการในปีการศึกษา 2566 ให้ผู้ปกครองทราบ โดยโรงเรียนนราทรได้ติดต่อโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงไว้เพื่อรองรับนักเรียน จำนวน 8 แห่ง
    4. โรงเรียนนราทร ได้มีหนังสือ ที่ นร. พิเศษ 10/2565 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ชี้แจงการยื่นคำขอเลิกกิจการโรงเรียนนราทรล่าช้า และได้มีหนังสือแจ้งครู บุคลากร รวมถึงผู้ปกครองด้วยแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
    5. ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนนราทร เขตประเวศ จำนวน 2 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยผู้ปกครองแจ้งว่าโรงเรียนนราทร ได้มีหนังสือ เลขที่ นร.8/2565 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แจ้งเรื่องเลิกกิจการโรงเรียนในปีการศึกษา 2566 โดยไม่มีการประชุมชี้แจงกับผู้ปกครองล่วงหน้า ทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบในการหาที่เรียนให้บุตร ซึ่งผู้ปกครองประสงค์ให้บุตรเข้าศึกษาต่อ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอโศกวิทย์อ่อนนุช เขตสวนหลวง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สะดวกต่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติของผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งด้านค่าใช้จ่าย การรับส่งบุตร และการประกอบอาชีพของผู้ปกครอง

ทั้งนี้ตามข้อเท็จจริง
    1. โรงเรียนอโศกวิทย์อ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนตามใบอนุญาต 40/2517 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2517 2517 ปัจจุบันโรงเรียนอโศกวิทย์อ่อนนุช เปิดสอนระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6) เป็นโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนรายบุคคลจากรัฐทุกชั้นเรียน
และตามตราสารจัดตั้ง หมวด 3 ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ข้อ 6 ทรัพย์สินของโรงเรียนเมื่อเริ่มแรกระบุว่า โรงเรียนมีอาคารเรียน 3 หลัง จำนวนห้องเรียน 18 ห้อง จำนวนห้องประกอบ 22 ห้อง จัดเป็นห้องสมุด ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องพักครู โรงอาหาร อาคารพลศึกษา และอื่น ๆ และหมวด 1 ข้อ 1 ความจุนักเรียนสูงสุด (ทั้งโรงเรียน) 800 คน
    2. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากโรงเรียนนราทรแจ้งเลิกกิจการกะทันหัน ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้เยียวยาหาทางออกให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของโรงเรียนกว่า 600 คน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนช่วยพิจารณาดำเนินการหาทางออกให้กับผู้ปกครองและนักเรียน
    3. กรณีโรงเรียนนราทรและโรงเรียนอโศกวิทย์อ่อนนุช ทั้งสองโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ได้รับการอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยมีรายชื่อของเด็กนักเรียนจากระบบ PSIS

โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
    1. พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
มาตรา 6 ในกรณีมีเหตุจำเป็นรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการจะประกาศให้โรงเรียนใดได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องใดก็ได้
มาตรา 114 ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตหรือทายาท แล้วแต่กรณี ไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบต่อไป ให้ยื่นคำขอเลิกกิจการโรงเรียนในระบบพร้อมด้วยเหตุผลต่อผู้อนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนสิ้นปีการศึกษาในกรณีที่มีเหตุพ้นวิสัยที่โรงเรียนในระบบจะดำเนินกิจการต่อไปได้ ผู้รับใบอนุญาตหรือทายาท แล้วแต่กรณี จะขออนุญาตเลิกกิจการโรงเรียนในระบบโดยยื่นคำขอล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งก็ได้ในการอนุญาตตามคำขอตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้อนุญาตจะกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขให้โรงเรียนในระบบต้องปฏิบัติเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนนั้นก่อนอนุญาตให้เลิกกิจการโรงเรียนในระบบตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 116 ก่อนได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการโรงเรียนในระบบ ให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้อำนวยการ และผู้จัดการมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารหลักฐานตามมาตรา 39 (4) และ (5) และเอกสารอื่นที่คณะกรรมการกำหนดให้แก่ผู้อนุญาตในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นว่าเอกสารหลักฐานที่ส่งตามวรรคหนึ่งยังไม่ครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้บุคคลตามวรรคหนึ่งส่งเพิ่มเติมจนครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดได้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ตามวรรคหนึ่งต่อไปจนกว่าจะส่งเอกสารหลักฐานครบถ้วนเมื่อโรงเรียนในระบบเลิกกิจการแล้วและมีความจำเป็นต้องออกหนังสือรับรองผลการศึกษาของนักเรียน ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกให้แทนโรงเรียนในระบบได้ให้ผู้อนุญาตดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนในระบบที่เลิกกิจการตามควรแก่กรณี
    2.กฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการและการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และการกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. 2555 ข้อ 22 การคำนวณความจุนักเรียนต่อห้องเรียนของโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษามีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ระดับก่อนประถมศึกษา
(ก) เตรียมอนุบาล ให้คำนวณความจุนักเรียนหนึ่งคน ต่อพื้นที่ 1.5 ตารางเมตร
(ข) อนุบาล ให้คำนวณความจุนักเรียนหนึ่งคน ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร และจำนวนรวมของนักเรียนแต่ละห้องต้องไม่เกินสี่สิบคน
(2) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ห้องเรียนที่มีพื้นที่ 48 ตารางเมตร ให้คำนวณความจุนักเรียนได้ไม่เกินห้องละสี่สิบห้าคน ถ้ามีพื้นที่เพิ่มจาก 48 ตารางเมตร ให้คำนวณความจุเพิ่มขึ้นได้โดยถือเกณฑ์ 1 ตารางเมตร ต่อนักเรียนหนึ่งคน และจำนวนรวมของนักเรียนแต่ละห้องต้องไม่เกินห้าสิบห้าคน
(3) ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในลักษณะการศึกษาพิเศษ ซึ่งให้การศึกษาแก่บุคคลที่มีลักษณะพิเศษ หรือผิดปกติทางร่างกาย สติปัญญา หรือจิตใจ ให้คำนวณความจุนักเรียนหนึ่งคน ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
    3. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. 2558 ข้อ 6 การให้เงินอุดหนุนรายบุคคล ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ให้คำนวณจากจำนวนนักเรียนที่เรียนอยู่จริงของโรงเรียน ซึ่งต้องไม่เกินความจุนักเรียนของโรงเรียน ตามหลักสูตรและสาขาวิชาที่โรงเรียนได้รับอนุญาตดังนี้
ก. จำนวนนักเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายนของปีการศึกษาที่ขอเบิก
ข. จำนวนนักเรียน ณ วันที่ 10 พฤศจิกายนของปีการศึกษาที่ขอเบิกของโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษา เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้เปิดรับนักเรียนใหม่เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 เท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่โรงเรียนยื่นขอเลิกกิจการโดยไม่ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 114 ซึ่งกำหนดให้ยื่นขอเลิกกิจการไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนสิ้นปีการศึกษา และได้มีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่าช้า อันเป็นฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 จึงทำให้เกิดผลกระทบขึ้นต่อผู้ปกครองและนักเรียนในการหาที่เรียนต่อในสถานศึกษาอื่นจนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนมายังกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมามีผู้ปกครองทั้งสองขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนช่วยเหลือบุตรทั้งสองให้เข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนอโศกวิทย์อ่อนนุช แต่โรงเรียนไม่สามารถรับเด็กนักเรียนเพิ่มได้ เนื่องจากเกินอัตราความจุในระดับชั้น ตามที่กฎกระทรวงในระบบฯ ข้อ 22 กำหนด

แต่เหตุที่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือนักเรียนทั้ง 2 ราย ดังกล่าว ซึ่งตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 116 วรรคสี่ กำหนดให้ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในฐานะผู้อนุญาตมีหน้าที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนที่เลิกกิจการตามสมควรแก่กรณี เนื่องจากเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกกิจการของโรงเรียนนราทร เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับการศึกษาภาคบังคับ แต่การที่โรงเรียนอโศกวิทย์จะรับนักเรียนเข้าเรียนเกินความจุต่อห้องเรียนโดยไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการและการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และการกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. 2555 ข้อ 22 (2) และสิทธิการรับอุดหนุนของนักเรียนดังกล่าวก็ไม่เป็นไปตามระเบียกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. 2558 ข้อ 6 (1) ซึ่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 6 กำหนดให้ กรณีมีเหตุจำเป็นรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการจะประกาศให้โรงเรียนใดได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องใดก็ได้ ในกรณีนี้จึงเห็นว่า เหตุดังกล่าวเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบในการหาที่เรียน มิใช่เกิดจากความบกพร่องของนักเรียนและผู้ปกครอง แต่เกิดจากเหตุที่โรงเรียนนราทรขอเลิกกิจการ และการที่ผู้ปกครองทั้งสองยื่นเรื่องประสงค์ขอเข้าเรียนต่อโรงเรียนอโศกวิทย์ อ่อนนุช เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่สะดวกต่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติทั้งในด้านค่าใช้จ่าย การรับส่งบุตร และการประกอบอาชีพของผู้ปกครอง จึงเห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นที่จะให้โรงเรียนอโศกวิทย์ อ่อนนุช ได้รับยกเว้นกรณีความจุนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 2 คน 2 ห้องเรียน และให้ได้รับเงินอุดหนุนที่พึงจะได้รับตามกฎหมายในกรณีที่ได้รับยกเว้นความจุนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

แต่การยกเว้นกรณีดังกล่าวต้องยกเว้นกรณีที่เกิดขึ้นกับนักเรียนโรงเรียนนราทรเป็นการเฉพาะตัวของเด็กนักเรียนทั้งสองคนเพื่อเข้ามาศึกษาต่อโรงเรียนอโศกวิทย์ อ่อนนุช จนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น โดยกำหนดเงื่อนไขให้สิ้นสุดลงเมื่อนักเรียนได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมีความประสงค์ออกจากโรงเรียนดังกล่าวก่อนสำเร็จการศึกษา หรือในกรณีที่เด็กนักเรียนคนอื่นอาศัยเหตุแห่งการขอยกเว้นมาเป็นข้ออ้างในการรับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนอื่นมิได้

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการชี้แจงถึงสาเหตุของการยกเว้นในกรณีของนักเรียนทั้งสองคนนี้ โดยตามกระบวนการและขั้นตอนที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลและสรุปผลผ่านแบบสำรวจการขอความประสงค์ในการขอช่วยเหลือของผู้ปกครองโรงเรียนนราทรเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีเพียงผู้ปกครองของนักเรียนทั้งสองมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งนักเรียนเข้าเรียนในเขตสวนหลวง โดยในกรณีดังกล่าวที่มีการยกเว้นกับนักเรียนโรงเรียนนราทรเป็นการเฉพาะตัวของเด็กนักเรียนทั้งสองคนนั้น

ที่ประชุมจึงพิจารณาให้ความเห็นชอบให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการออกประกาศให้โรงเรียนอโศกวิทย์ อ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานครได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการและการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และการกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. 2555 ข้อ 22 โดยได้รับยกเว้นกรณีความจุนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 2 คน 2 ห้องเรียน และให้ได้รับเงินอุดหนุนที่พึงจะได้รับตามกฎหมายในกรณีที่ได้รับยกเว้นความจุนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จนจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยการยกเว้นนี้ มีเงื่อนไขเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนราทรที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกกิจการของโรงเรียนนราทรเท่านั้น
 
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการนัดหมายประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 3/2566 วันพุธที่ 26 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.facebook.com/opecoffice/posts/pfbid034tXMe7CJ2JhZMDQGmkXuBcgeLTqT7nitR1gF8DRNk58FaxYW6HxEZ5UXmmrSNnhkl
 
ฐิติวัจน์ ชัยกิมานนท์ : ภาพ
ขวัญข้าว แสนบ่อ : ข่าว
กรรณิกา พันธ์คลอง : เรียบเรียง
ประกาย ศรีจันทึก : ประสานสื่อ
ประชาสัมพันธ์ สช.

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ