ผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 1/2566

31 ม.ค. 66 เวลา 10:33 น.2887 ครั้งพิมพ์
กรรณิกา พันธ์คลอง
กลุ่มเลขานุการกรม

ผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 1/2566

          วานนี้ (30  มกราคม  2566)  เวลา  13.30 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 1/2566 ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พร้อมด้วย คณะกรรมการ กช. และข้าราชการ สช.    เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2  อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ผลการประชุม

ที่ประชุมรับทราบ รายงานการเตรียมการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2566

          ตามที่ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่
10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 และนับแต่นั้นมาจึงได้กำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น
วันการศึกษาเอกชนซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาเอกชนในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ได้ร่วมกับสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดและเครือข่ายพัฒนาศึกษาเอกชน จัดกิจกรรมดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมทางการศึกษา ครูและผู้สอนโรงเรียนเอกชนได้เผยแพร่ผลงานด้านการศึกษาสู่สาธารณชนรวมถึงนักเรียนและผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถตามศักยภาพ และมีการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งตรงกับนโยบายและเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน โดยกำหนดจัดงานใน 5 ภูมิภาค ได้แก่

ภาคตะวันออก

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมทวาราวดี/โรงเรียนมัธยม วัดใหม่กรงทองในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดปราจีนบุรี

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมทวาราวดี จังหวัดปราจีนบุรี

ภาคกลาง

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงเรียนวินิตศึกษา จังหวัดลพบุรี

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอประชุมวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี จังหวัดลพบุรี

ภาคเหนือ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ปารีสอร์ท จังหวัดลำพูน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดลำพูน

ภาคใต้

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมพาราไดซ์แอนด์รีสอร์ท หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ จังหวัดหนองบัวลำภู

          ซึ่งภายในงานมีการจัดกิจกรรม ได้แก่ การเสวนาทางวิชาการ  การแสดงนิทรรศการ  การแข่งขันทักษะทางวิชาการของนักเรียน  การยกย่องเชิดชูเกียรติ ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษาเอกชน  และนักเรียนผู้สร้างชื่อเสียงระดับประเทศ

 

ที่ประชุมรับทราบ รายงานการควบคุมกิจการโรงเรียนเอกชนในระบบ

         ด้วยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมามีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนแจ้งว่า ได้ติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน โรงเรียนที่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนหรือไม่ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลานาน หรือถูกทิ้งร้างจนไม่มีสภาพเป็นโรงเรียนในระบบ จำนวน 3 โรง ดังต่อไปนี้

          โรงเรียนรัตโนภาสสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ถูกใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท CS Park Korat Logistic Hub และไม่มีสภาพเป็นโรงเรียน เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ) พ.ศ. 2554 และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบโรงเรียนพิทักษ์ภูเบนทร์ 4 อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ถูกทิ้งร้างจนไม่มีสภาพเป็นโรงเรียน เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบโรงเรียนอนุบาลสมฤทัยวิทยา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ไม่ปรากฏการดำเนินกิจการโรงเรียนและสถานที่ตั้งของโรงเรียน เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบ     

          สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมาจึงมีคำสั่งให้โรงเรียนรัตโนภาสสุรนารีโรงเรียนพิทักษ์ภูเบนทร์ 4 และโรงเรียนอนุบาลสมฤทัยวิทยา จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในความควบคุมของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียน
ทั้ง 3 โรงเรียนแล้ว

         

ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. ....

          1. ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. ....

          2. เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนลงนามในร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. ....

          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเห็นสมควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 อนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวัน และสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอต่อความต้องการ

          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ยกร่างประกาศคณะกรรมการสงเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. ....  และนำเสนอคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนฝ่ายกฎหมายพิจารณาให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว มีสาระสำคัญประกอบด้วย

กำหนดนิยาม

คุณสมบัติของโรงเรียนที่มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน

คุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน

อัตราเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน

การยื่นคำขอรับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน

การดำเนินการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด

การดำเนินการของโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน

 

ที่ประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชนของคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ

          สำนักงานฯ เห็นควรให้โรงเรียนเอกชนระบบเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยแต่งตั้งคณะทำงานตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของโรงเรียนในสภาวการณ์ในปัจจุบัน เป็นการสนับสนุนส่งเสริมได้ตรงตามความต้องการของโรงเรียน

          ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่ 171 / 2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ สั่ง ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 กำหนดให้คณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการส่งเสริมสถานศึกษา การพัฒนาและกำหนดมาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบ การกำหนดมาตรฐานการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเอกชน การประกันคุณภาพการศึกษาสื่อและนวัตกรรม และส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการในโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั้น

          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างเวลา 09.30 16.00 น. ณ ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์  และผ่านระบบออนไลน์ โดยเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่ปรึกษาในคณะอนุกรรมการฯ และรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (นายประพัทธ์
รัตนอรุณ) เป็นประธานการประชุม

          ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ครั้งที่ 1/2565 ที่ประชุมได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ โดยนำยุทธศาสตร์ที่ได้ร่วมกันยกร่างไว้เดิมและมอบให้ฝ่ายเลขานุการไปทบทวนและตั้งคณะทำงานดำเนินงาน ซึ่ง  6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย

          1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ ในเรื่อง One Stop Service ครูต่างชาติ นักเรียนต่างชาติ  Big Data ระบบ PEDC, E-Doc, ฐานข้อมูลโรงเรียน

          2. ยุทธศาสตร์การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร ในเรื่อง การพัฒนาหลักสูตร  ฐานข้อมูลหลักสูตร

          3. ยุทธศาสตร์การปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ในเรื่องร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ให้สอดรับกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่  การขอใช้พื้นที่ในการจัดตั้งโรงเรียนการเปิดสาขาของโรงเรียน  ขั้นตอนการพิจารณาหลักสูตร

          4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้บริหาร ครู ผู้สอน บุคลากร นักเรียน ในเรื่องการขับเคลื่อนกองทุน
กู้ยืมเงินเพื่อผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบ  การอบรมผู้บริหารและครู ผู้สอน บุคลากร สวัสดิการโรงเรียนและครูในรูปแบบกองทุนสงเคราะห์

          5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา  การประกันคุณภาพภายใน  การเทียบโอน (Credit Bank System)  งานวิจัย

          6. ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมเครือข่ายและความร่วมมือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)  การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

          โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงาน  3 คณะ ดังต่อไปนี้

          1. คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคของการพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบในสภาวการณ์ปัจจุบันและสภาวการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ที่สามารถลงไปสู่การปฏิบัติได้จริง

          2. คณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนนอกระบบ มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ระบบการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารโรงเรียน เช่น การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของโรงเรียน, การให้บริการโรงเรียน, สิทธิประโยชน์ที่โรงเรียนนอกระบบพึงมี

          3. คณะทำงานยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเอกชนนอกระบบ มีหน้าที่งานด้านวิชาการและคุณภาพเพื่อสามารถสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในมิติต่างๆ เช่น การทำความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น, กองทุน กยศ. เพื่อการกู้ยืมของผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบ และการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของโรงเรียนนอกระบบ

          ทั้งนี้ ได้นัดหมายการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 2/2566 ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ