ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ. สิริพงศ์ เป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สช. กับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ในกิจกรรม "เรียนดี มีความสุข สร้างเส้นทางสู่อาชีพ (Learn to Earn) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568"

20 ม.ค. 68 เวลา 14:49 น.53 ครั้งพิมพ์
นิชาดา บรรเด็จ
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (20 มกราคม 2568) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ในกิจกรรม "เรียนดี มีความสุข สร้างเส้นทางสู่อาชีพ (Learn to Earn) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568" โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ดร.ภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ดร.สงกรานต์​ พันธุ์​พินิจ ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย คณะวิทยากร คณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนอิสาณโกศลศึกษา เข้าร่วมในพิธี ณ โรงเรียนอิสาณโกศลศึกษา อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ในการจัดงานในครั้งนี้ว่า ด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคนในทุกมิติ ให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 พัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนค้นพบศักยภาพตามความถนัด สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะและสมรรถนะทางด้านอาชีพ นำไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนในระบบได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความสามารถ และความถนัดของตนเอง โดยมีคณะวิทยากรจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบ และภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษา ซึ่งมีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่ผ่านการรับรองทางด้านมาตรฐานวิชาชีพ 

 

"นับเป็นความก้าวหน้าของการจัดการศึกษาของประเทศไปอีกขั้น ที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาการจัดการศึกษาของประเทศ อีกทั้ง มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเอกชน และภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวไว้ว่า "จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน" และสามารถนำไปสู่การสะสมผลการเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย" นายสิริพงศ์ กล่าว

 

เลขาธิการ กช. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้นำนโยบาย "ผู้เรียน เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)" ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) มาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนนอกระบบ มหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา สถาบันพละศึกษา และภาคีเครือข่าย ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาสมรรถนะด้านวิชาชีพของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระบบอย่างเป็นกัลยาณมิตร เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน 

 

เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้ง 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุดรธานี พะเยา เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ตรัง และนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกับเครือข่ายทางการศึกษาเอกชน ในการจัดกิจกรรม "เรียนดี มีความสุข สร้างเส้นทางสู่อาชีพ (Learn to Earn)“ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถทางด้านทักษะอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ สนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระบบ ที่เสริมสร้างทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนและสอดคล้องกับมาตรฐานด้านวิชาชีพ นำไปสู่การสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power ของโรงเรียนเอกชน และเพื่อให้นักเรียนที่เข้ารับการอบรมสามารถเทียบผลจากการอบรม กับผลการเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาได้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ประกอบด้วยหลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพ 38 หลักสูตร มีนักเรียนเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 2,036 คน

 

สำหรับกิจกรรม Learn to Earn ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 มกราคม 2568 ณ โรงเรียนอิสาณโกศลศึกษา จังหวัดบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ มีรูปแบบกิจกรรมเป็นการฝึกอบรมให้ความรู้ บรรยาย สาธิต และให้นักเรียนลงมือฝึกปฏิบัติ จำนวนทั้งสิ้น 2 หลักสูตร โดยหลักสูตรแรก จังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดกิจกรรมในหลักสูตร การนวดคอ บ่า ไหล่ ร่วมกับวิทยากรจากโรงเรียน ไทยสปา ลักษณ์เรซ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนโรงเรียนอิสาณโกศล จำนวน 50 คน และหลักสูตรที่สอง จังหวัดอุดรธานีได้จัดกิจกรรมในหลักสูตรเครื่องดื่มไทย ร่วมกับวิทยากรจากโรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนโรงเรียนมหฤทัยคริสเตียน จำนวน 50 คน ตลอดการฝึกอบรมนักเรียนจะได้รับความรู้ทักษะในการประกอบอาชีพ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่ผ่านการรับรองทางด้านมาตรฐานวิชาชีพ คอยให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนักเรียนสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดสู่การประกอบเป็นอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน ประกอบเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพอิสระได้จริง นอกจากนี้ยังมีการจัดบูธแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ของโรงเรียนเอกชนอีกมากมาย อาทิ การนวด การสอนขับรถจักรยานยนต์ การสอนภาษาต่างประเทศ และการสอนขับร้อง เลขาธิการ กช. กล่าวทิ้งท้าย

 

ภวินท์ เล้าเจริญสมบัติ / ภาพ

นิชาดา บรรเด็จ / ข่าว

ประชาสัมพันธ์ สช.

 

#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #โรงเรียนเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ