ศธ. เปิดงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

25 มี.ค. 67 เวลา 10:46 น.305 ครั้งพิมพ์
นิชาดา บรรเด็จ
กลุ่มเลขานุการกรม

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมีนายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)พร้อมด้วยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (โรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคาระห์) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล) และ สถาบันร่วมพัฒนา จำนวน 11 สถาบัน ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (3) มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต (4) มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา (5) มหาวิทยาลัยนเรศวร (6) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (7) มูลนิธิสยามกัมมาจล (8) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 (9) มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม (10) มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และ (11) ศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้าร่วมงาน ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี

 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. กล่าวว่า การจัดงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มีประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ 1. “ปรับกระบวนการทำงาน” ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา การได้เข้ามาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ นับว่าเป็นกระทรวงที่ทำงานช้าเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงอื่นสั่งงานวันนี้อีก 7 วันได้ แต่กระทรวงศึกษาธิการ สั่งงานวันนี้ อีก 21 วันได้ นั่นหมายความว่าเราช้ากว่าถึง 3 เท่า เมื่อท่านเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เข้ามาบริหารงานกระทรวงฯ ได้มีการปรับให้งานมีความกระชับ และรวดเร็วขึ้น โดยกำหนดหลักการทำงานไว้ว่า “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” นี่คือสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังสร้าง DNA ให้คนกระทรวงศึกษาธิการใหม่  2. “ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” จากประเด็นปัญหาผลคะแนนของ PISA ที่บ่งบอกถึงระบบการศึกษาไทยมีปัญหา การศึกษาไทยมีคุณภาพต่ำ ฉะนั้น ปัญหาระบบการศึกษาของไทยอยู่ที่ความล้าสมัย และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น เด็กที่เก่งก็เก่งไปเลย เด็กที่ไม่เก่ง ก็ไม่เก่งไปเลย ซึ่งเราต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 3. “ปรับตัวชี้วัด“ ปัจจุบันตัวชี้วัดในด้านการศึกษาจำนวนสองพันกว่าตัว เป็นการวัดว่าครูทำครบตัวชี้วัดหรือไม่ แต่ไม่ได้วัดในเรื่องของการที่ครูสอนไปแล้วนักเรียนได้อะไร ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำเลยคือการปรับตัวชี้วัด ในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผู้เรียน

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว / ภาพ : คณะทำงานหน้าห้องรองเลขาธิการ กช.

 

#เรียนดีมีความสุข #ศธ #สช #Opec #propec #การศึกษาเอกชน #ทำดีทำได้ทำทันที