เช้าวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2565) เวลา 10.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนครั้งที่ 6 ประจำปี 2565 โดยมี นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และคณะกรรมการ กช. ผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับระบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 26 ตุลาคม 2565
1. รายงานการควบคุมกิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบ
2. เห็นชอบ การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยผู้ช่วยครูในโรงเรียนเอกชนในระบบที่จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนพิการ พ.ศ. ....
3. เห็นชอบ การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบ (ฉบับที่) พ.ศ. ....
4. เห็นชอบ การออกประกาศให้โรงเรียนอนุบาลธรรมศาลา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 21 (3) ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต
รับทราบ นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2566
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2566 เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกแห่ง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และได้กำหนดปฏิทินการรั[นักเรียน ปีการศึกษา 2566 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ให้แล้วเสร็จทันการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2566 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การรับนักเรียน ในปีการศึกษา 2566 เป็นไปตามหลักความเป็นธรรม เด็กทุกคนมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพและเกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่จัดการศึกษาในพื้นที่ สำนักงานฯ จึงได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0211.4/16851 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เพื่อขอความอนุเคราะห์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซักซ้อมแนวทางการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2566 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ทราบและถือปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้
1. การแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานที่จัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ไม่เกิน 3 คน
เป็นคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนโรงเรียนเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา อย่างน้อย 1 คน
2. การจัดทำแนวปฏิบัติการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ขอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและผลกระทบของโรงเรียนเอกชนในการดำเนินการรับนักเรียนโดยเฉพาะการรับนักเรียนในระดับชั้น
ก่อนประถมศึกษา (ระดับอนุบาล)
รับทราบ การดำเนินงานการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน โดยปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนระดับชั้นก่อนประถมศึกษา ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ดังต่อไปนี้
จำนวนนักเรียนในโรงเรียน 1 – 40 คน ค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียนในโรงเรียน 41 – 100 คน ค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียนในโรงเรียน 101 – 120 คน ค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน
จำนวนนักเรียนในโรงเรียน 121 คนขึ้นไป ค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน
เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ ส่งผลต่อการพัฒนาด้านกายภาพและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสถานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนขอเรียนว่า การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายนักเรียนโรงเรียนเอกชน จำนวน 487,819 คน (1,782 โรงเรียน) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงานฯ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,048,844,000 บาท เมื่อคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้ตามอัตราใหม่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,175,578,200 บาท ซึ่งยังขาดงบประมาณอีกจำนวน 126,734,200 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงานฯ จะดำเนินการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2566 เพื่อดำเนินการต่อไป
รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการโรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาค
ตามที่ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันพุธที่26 ตุลาคม 2565 มอบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการโรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาคในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่มีปริมาณงานมากและขาดแคลนบุคลากร และดำเนินการจัดสรรอัตรากำลังตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ที่ฝากอัตรากำลังบางส่วนไว้ที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา
ตามอัธยาศัย มาจัดสรรให้แก่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด นั้น
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนขอรายงานความคืบหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการโรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาค ดังต่อไปนี้
1. พัฒนาศูนย์บริการการศึกษาเอกชนออนไลน์ (PESO) โดยปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน เกี่ยวกับการอนุมัติและการอนุญาตทางราชการให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อให้บริการแก่โรงเรียนเอกชน ประชาชนทั่วไป สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถยื่นคำขอ ยื่นเรื่องแบบออนไลน์ เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากในการดำเนินการและลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งศูนย์บริการการศึกษาเอกชนออนไลน์ (PESO) จำแนกเป็น 2 ระบบย่อย ได้แก่
(1) ระบบจัดการข้อมูลชาวต่างประเทศในโรงเรียนเอกชน (PFS) จะเริ่มทยอยเปิดให้ผู้รับบริการสามารถยื่นเรื่องทางออนไลน์ได้ในเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป ได้แก่ ขอความเห็นชอบรับนักเรียนชาวต่างประเทศ, รับนักเรียนชาวต่างประเทศ, รับรองนักเรียนชาวต่างประเทศ, จำหน่ายนักเรียนชาวต่างประเทศ, ขอความเห็นชอบรับผู้สอนชาวต่างประเทศ, รายงานการแต่งตั้งผู้สอนชาวต่างประเทศ และรายงานการถอดถอนผู้สอนชาวต่างประเทศ
(2) ระบบยื่นเรื่องออนไลน์ (ORSS) มีงานบริการทั้งหมด 51 งานบริการ ซึ่งเริ่มทยอยเปิด
ให้ใช้งานแล้ว เช่น การขอใช้ชื่อหรือเปลี่ยนแปลงชื่อโรงเรียน, การยื่นรายงานการแต่งตั้ง-ถอดถอน ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา, การยื่นแต่งตั้ง-ถอดถอนนายทะเบียนโรงเรียน, การจัดทำและจัดส่งแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) ของโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา และการจัดทำและจัดส่งแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (รนช.) ของโรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ
โดยในเดือนเมษายน 2566 จะเปิดให้บริการระบบยื่นเรื่องออนไลน์ (ORSS) เพิ่มเติม เช่น ขอหนังสือรับรองความรู้และใบแทนประกาศนียบัตรสำหรับโรงเรียนในระบบที่เลิกกิจการ, ขอหนังสือรับรองสภาพโรงเรียน (ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ), ขอคัดสำเนาทะเบียนโรงเรียนและครู, ขอหนังสือแจ้งข้อมูลโรงเรียน, รายงานการอนุญาต/รายงานการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษาของโรงเรียนในระบบ, รายงานการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนในระบบ, รายงานการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนในระบบ, ขอใช้ตราประจำโรงเรียน, ขอเปลี่ยนแปลงระเบียบการของโรงเรียนนอกระบบ, รายงานการอนุญาต/รายงานการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษาของโรงเรียนนอกระบบ, รายงานการเปลี่ยนแปลงผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนอกระบบ และขอใช้รูปแบบเกียรติบัตรของโรงเรียนนอกระบบ และอยู่ระหว่างการขออนุมัติใช้เงินจัดสรรเหลือจ่ายและเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อพัฒนาระบบเพิ่มเติมในระยะที่ 2 เพื่อให้บริการเกี่ยวกับการอนุมัติและการอนุญาตทางราชการที่สำคัญให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อให้บริการแก่โรงเรียนเอกชนทางออนไลน์เพื่อรองรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เช่น การขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ, การขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง, การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน, การโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ, การขอเลิกกิจการโรงเรียนในระบบ, การขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ, การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนนอกระบบ, การขอเพิ่มหลักสูตร/รายวิชาของโรงเรียนนอกระบบ/การเพิ่มประเภทการจัดการเรียนการสอน, การย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียน/การขอเพิ่มพื้นที่โรงเรียน/การขอลดพื้นที่โรงเรียน/การขอปรับสภาพการใช้ห้องเรียน ห้องประกอบ รวมกรณีการขอกำหนดหลักเกณฑ์การเพิ่มค่าธรรมเนียมการศึกษา, การโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ และการรับรายงานการเลิกกิจการโรงเรียนนอกระบบ
2. ดำเนินการการตัดโอนอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปตั้งจ่ายในกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
ตามที่ ที่ประชุมหารือการขอรับโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากร
ทางการศึกษา ได้มีมติให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่ว่างมีเงินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 132 อัตรา มาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อแก้ปัญหาในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชน โดยให้ตำแหน่งที่ตัดโอนดังกล่าว ไปกำหนดไว้ในตำแหน่งครูผู้ช่วยสังกัด กศน. ก่อน หากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้รับอนุมัติกรอบอัตรากำลังจากสำนักงาน ก.ค.ศ แล้ว ให้เกลี่ยมายังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนต่อไป สำนักงานฯ ขอรายงานให้ทราบการดำเนินการ ดังนี้
ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้สำนักงาน กศน. ตัดโอนอัตราเงินเดือน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย จำนวน 79 อัตรา มากำหนดอัตราเงินเดือน ให้แก่ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 56 อัตรา, กลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จำนวน 23 อัตรา (อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจาก สำนักงาน กคศ.) คงเหลือตำแหน่งครูผู้ช่วยสังกัด กศน. ที่ฝากไว้อีก จำนวน 53 อัตรา
สำนักงานฯ ได้ประสานสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า ปัจจุบันกรอบอัตรากำลังของกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีจำนวนกรอบ 398 อัตรา
มีคนครอง 260 อัตรา ว่าง 34 อัตรา และว่างไม่มีเงินอีก 104 อัตรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการบรรจุแต่งตั้งให้ครบตามจำนวนกรอบอัตรากำลังต่อไป
เห็นชอบและให้พิจารณาเพิ่มเติม แนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชนของคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริม
โรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 – 15.00 น. ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมได้สรุปทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษา ดังนี้
จากผลการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) 2018 ที่ผ่านมาพบว่า คะแนนของประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลกทุกด้าน เช่นเดียวกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่ผ่านมาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับต่ำมาก คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยกว่า 50 เกือบทุกวิชา และคะแนนเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะการจัดการเรียนการสอนและการประเมินในโรงเรียนที่เน้นการประเมินองค์ความรู้ แตกต่างกับการประเมินในระดับชาติที่เน้นประเมินสมรรถนะ ทำให้ผลการประเมินในระดับชาติมีผลคะแนนที่ไม่เป็นที่พอใจ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของนักเรียนต่ำลง อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากครูยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขาดทักษะและความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับ ดูแล โรงเรียนเอกชนหลายประเภท จึงให้ความสำคัญและมีความตื่นตัวในการหายุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชนให้มีมาตรฐานและคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชนของโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ดังนี้
1. การยกระดับคุณภาพการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กำหนดเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งการพัฒนา 3 ส่วน คือ
1.1 การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีทักษะและสมรรถนะที่จำเป็น ทันต่อความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการปรับหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นสมรรถนะผู้เรียนภายใต้กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สำหรับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด มุ่งพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
1.2 การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้มีทักษะที่จำเป็นและสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะด้านชีวิต
และอาชีพ ด้วยการประเมินที่หลากหลาย เน้นเรื่องการสร้างอาชีพ และส่งเสริมความถนัดในแต่ละด้าน เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น
1.3 การพัฒนาครู ให้มีมาตรฐานวิชาชีพและตรงกับความต้องการของโรงเรียนแต่ละประเภท เนื่องจากโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษามีหลายประเภท แตกต่างกันตามบริบทการพัฒนาครู จึงต้องเน้นให้ตรงตามความต้องการ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงกับบริบทของโรงเรียน เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่ดีของผู้เรียน
2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกำหนดเป้าหมายการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา โดยการสร้างจุดเน้นของโรงเรียน (โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนส่งเสริมการคิด (thinking school) ห้องเรียนอาชีพ ฯลฯ) การกำหนดคุณภาพการศึกษาที่ต้องการให้ชัดเจน เพื่อสถานศึกษาจะได้มีทิศทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งการพัฒนา 2 ส่วน คือ
2.1 ปรับแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาเอกชน เพื่อสามารถทำให้สถานศึกษาเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและมีเอกภาพ
2.2 พัฒนารูปแบบ/วิธีการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการพัฒนาสถานศึกษา โดยการกำหนดคุณภาพการศึกษาที่ต้องการอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมเพียงพอที่จะประเมินผลได้ว่าถึงเป้าหมายแล้วหรือไม่ เพียงใด มีกระบวนการที่ไปถึงเป้าหมายคุณภาพที่ต้องการให้ได้โดยเร็ว (เช่น ไม่เกิน 5 ปี) และไม่ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจะได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน 2 ด้าน ต่อไป
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการนัดหมายประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 7/2565 วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคาราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ประชาสัมพันธ์ สช.